วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การส่องกล้อง(ทางเดินอาหาร) ตรวจกระเพาะอาหาร Esophago-gastro-duodenoscopy

กระเพาะอาหาร เปรียบเสมือนห้องๆ หนึ่งที่เก็บรวบรวมเอาทุกๆ สิ่ง ไว้ด้วยกัน ดังนั้นผิวภายในกระเพาะอาหารของคนเราจึงมีความแข็งแรงเป็นพิเศษ แต่ถึงกระนั้นก็ตามแต่ถึงจะแข็งแรงมากแค่ไหนก็ตาม หากเราขาดการดูแลสุขภาพในการรับประทานอาหาร และการขับถ่าย บ่อยๆ เข้าโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก็อาจจะตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น โรคกระเพาะอาหาร ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่นท้อง และอื่นๆ เพราะฉะนั้นแล้วการตรวจสุขภาพกระเพาะอาหารจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เราทราบว่ากระเพาะของเราเป็นอย่างไรบ้าง ก็ด้วยวิธีทางการแพทย์สมัยใหม่อย่าง การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร (Indication for Esophago-gastro-duodenoscopy) ส่วนสำหรับท่านใดที่อยากทราบว่าตัวเองควรจะตรวจกระเพาะอาหารด้วยวิธีการส่องกล้อง(ทางเดินอาหาร) เมื่อไหร่นั้น เป็นดังต่อไปนี้
 ข้อบ่งชี้ ในการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร (Indication for Esophago-gastro-duodenoscopy)  • ปวดจุกแน่นใต้ลิ้นปี่ ใต้ชายโครงซ้ายเหนือสะดือ เสียดท้อง ปวดแสบท้อง อาหารไม่ย่อย ลมแน่นท้อง (Dyspepsia)
  • กลืนอาหารลำบาก (Dysphasia)
  • กลืนอาหารเจ็บ (Odynophagia)
  • น้ำหนักลดลง (Weight loss)
  • เบื่ออาหาร (Anorexia)
  • อาเจียนบ่อยๆ ( Repeated vomiting)
  • ซีด ภาวะโลหิตจาง (Anemia)
  • อาเจียนเป็นเลือด (Hematemesis)
  • ถ่ายอุจจาระดำ (Melena)
  • ก้อนในช่องท้องด้านบน (Upper abdominal mass)
 ขั้นตอน การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร (Esophago-gastro-duodenoscopy)
   1. ก่อนการส่องตรวจกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยต้องงดน้ำและอาหารประมาณ 8 ชั่วโมง เพื่อกันการสำลัก ถ้ามีฟันปลอมถอดได้ ให้ถอดออก
   2. ทำให้คอผู้ป่วยชา โดยให้กลืนยาชาและพ่นยาชาที่คอ (ดังนั้นถ้าผู้ป่วยแพ้ยาชา กรุณาแจ้งแพทย์ก่อน)
   3. เมื่อคอผู้ป่วยชาแล้ว (จะรู้สึกกลืนไม่ลงซึ่งเป็นฤทธิ์ยาชา) แพทย์จะใส่กล้องส่องกระเพาะอาหาร ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อยาวนิ่มๆ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8.6 มิลลิเมตร เข้าทางปากไปยังคอ ลงไปตามหลอดอาหาร กระเพาะอาหารจนถึงลำไส้เล็กส่วนต้นที่หนึ่ง และสิ้นสุดที่ลำไส้เล็กส่วนต้นที่สอง
  

 4. ใช้เวลาในการทำ 5-10 นาที   

5. ถ้าพบความผิดปกติ ระหว่างการส่องกล้องตรวจ แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อและส่งตรวจละเอียดต่อไป
   

6. การส่องกล้องตรวจกระเพาอาหารนี้อาจทำให้ผู้ป่วยกลัว อึดอัดแต่เนื่องจากในเวลาสั้น จึงมักทำในขณะผู้ป่วยรู้ตัว แต่ถ้าผู้ป่วยกลัวหรือสูงอายุ อาจไม่ให้ความร่วมมือก็จะส่องกล้องตรวจในขณะผู้ป่วยหลับ (ฉีดยานอนหลับ)
   
7. เมื่อสิ้นสุดการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารผู้ป่วยจะยังรู้สึกชาที่คอ และกลืนลำบากอีก ประมาณ 30 นาที (ซึ่งเป็นฤทธิ์ยาชา) ถ้ายังชาที่คอแนะนำอย่าเพิ่ง ไอ ขาก หรือกลืนน้ำลายเพราะจะสำลักได้ ถ้ามีน้ำลายให้บ้วนทิ้ง
 

  8. เมื่อคอหายชา ก็เริ่มดื่มน้ำและรับประทานอาหารได้ ควรดื่มน้ำมากๆ จะได้ไม่เจ็บคอ

 ประโยชน์ของการส่องตรวจกระเพาะอาหาร
   • เพื่อดูหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำสำไส้เล็กส่วนต้นว่ามีลักษณะ ผิดปกติอะไร เช่น ตีบ อุดตัน เป็นแผล อักเสบ เนื้องอก มะเร็ง จุดเลือดออก เส้นเลือดแตกหรือไม่
   • ถ้าพบลักษณะแผล เนื้องอกมะเร็ง แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อเพื่อสงตรวจพิสูจน์ต่อไปว่า 
เป็นแผลธรรมดา เป็นมะเร็งหรือมีเชื้อโรคเฮลิโคแบคเตอร์
  ไพโลไรหรือไม่
   • ถ้าพบจุดเลือดออก อาจฉีดยาห้ามเลือด หรือใช้ความร้อน กระแสไฟฟ้าห้ามเลือด หรือใช้ hemoclip (คล้ายเข็มเย็บกระดาษ) ช่วยหยุดเลือด
   • หากมีการตีบตันก็จะใช้กล้องส่องกระเพาะอาหารช่วยขยายได้บางส่วน
   • ในกรณี มีเส้นเลือดดำโป่งพอง ที่ส่วนปลายหลอดอาหาร (พบในผู้ป่วยตับแข็ง ซึงจะมีอาการ อาเจียนเป็นเลือด) สามารถรัดเส้นเลือดดำที่แตกนี้ ได้โดยรัดผ่านกล้องส่องตรวจกระเพาอาหารซึ่งเป็นวิธีที่นิยมทำ
    เพื่อติดตามผลการรักษาด้วยยา ว่าแผลหายดีหรือไม่
 ผลข้างเคียงของการส่องตรวจกระเพาะอาหาร
   • ได้แก่ เลือดออกหรือทะลุ พบได้น้อยกว่า 1:1000 มักพบในรายที่จี้ตัดเนื้องอก หรือตัดชิ้นเนื้อหลายๆ แห่ง
   • การสำลัก เกิดปอดอักเสบได้ พบได้น้อย
   • การติดเชื้อ พบได้น้อย
   • ส่วนอาการเจ็บระคายคอ การดื่มน้ำมากๆ จะช่วยได้
ทราบแบบนี้แล้ว หลายท่านคงจะโล่งใจไปเลยว่า การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารนั้น ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องเป็นโรคร้ายแรงอะไรเสมอไป แต่ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการสังเกตสภาพการทำงานของกระเพาะว่ายังปกติดีอยู่หรือไม่ ถ้าไม่แล้วจะได้หาวิธีป้องกันและรักษาตามขั้นตอนต่อไป
ภาพประกอบจาก hopkins-gi.nts.jhu.edu 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น