วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2558

อาการของโรคกระดูกทับเส้นประสาทเป็นอย่างไร?

โรคกระดูกทับเส้น หรือที่เรียกกันว่า "โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท" นั้นเป็นโรคที่มีอัตราการเกิดเป็นอันดับต้นๆ ในหมู่โรคเกี่ยวกับหลังและคอ โดยโรคนี้ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากลักษณะการใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้คน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน หรือการใช้ร่างกายไม่ถูกต้อง จนทำให้เกิดโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทในที่สุด

อาการของโรคกระดูกทับเส้นประสาทเป็นอย่างไร?
อาการกระดูกทับเส้นประสาทที่พบได้บ่อยนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่
กระดูกทับเส้น

  • กระดูกทับเส้นประสาทบริเวณหลังส่วนล่าง - เกิดจากการที่หมอนรองกระดูกปลิ้นหรือแตกจนทำให้ของเหลวภายในไปเบียดทับเส้นประสาทบริเวณหลังส่วนล่าง (กระดูกสันหลังชิ้นที่ L3 L4 L5 S1) ทำให้ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนเอวไปถึงขา อาการของโรคกระดูกทับเส้นประสาทบริเวณหลังส่วนล่าง
    • มีอาการปวดหลังบริเวณเอว เป็นๆ หายๆ
    • ปวดหลังมากเวลา ยืน ก้มเงย หรือนั่งนานๆ
    • ปวดหลังร้าวลงมาที่ขา น่อง ตาตุ่ม หรือเท้า ร่วมกับมีอาการชาที่บริเวณขาหรือเท้าด้วย
    • ระบบขับถ่ายผิดปกติ หรือรุนแรงจนเป็นอัมพาตของขาทั้งสองได้
  • กระดูกทับเส้นประสาทส่วนคอ - เกิดจากการที่หมอนรองกระดูกยื่นมากดทับเส้นประสาทบริเวณคอ ส่งผลทำให้เกิดอาการปวดคอ ร่วมกับปวดแขนข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง อาการของโรคกระดูกทับเส้นประสาทส่วนคอ
    • เกิดอาการชาบริเวณฝ่ามือโดยเริ่มจากปลายนิ้ว
    • มีอาการปวดร้าวบริเวณแขนข้างใดข้างหนึ่ง
    • ปวดคอ ปวดเมื่อยบริเวณสะบักเรื้อรัง
    • ไม่สามารถเคลื่อนไหวคอได้ปกติ
กระดูกทับเส้นประสาท เกิดจากสาเหตุใด?
  • การเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังตามอายุและการใช้งานเป็นปกติ
  • คนที่มีน้ำหนักตัวมากก็มีส่วนทำให้หมอนรองกระดูกรับน้ำหนักมาก
  • มีพฤติกรรมหรือทำงานที่ต้องก้ม หรือยกของหนักบ่อยๆ
  • อาชีพที่ต้องนั่งทำงาน หรือขับรถเป็นระยะเวลานาน
  • อุบัติเหตุจากการหกล้ม
ผู้ป่วยกระดูกทับเส้นประสาทควรปฏิบัติตัวอย่างไร?
หากผู้ป่วยดูแลตนเองด้วยวิธีถูกต้องและระมัดระวังก็จะทำให้มีโอกาสหายขาดจากโรคกระดูกทับเส้นประสาทสูง โดยผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้
  • เปลี่ยนท่านอนเป็นการนอนตะแคง
  • เปลี่ยนมานอนที่นอนแข็งหรือที่นอนที่ยัดนุ่นแทน และใช้หมอนที่มีขนาดเตี้ยลงกว่าเดิม
  • ผู้ป่วยควรนั่งให้น้อยที่สุด เช่นหากจะนั่งพักเฉยๆ ให้เปลี่ยนเป็นการนอน หรือเวลาที่จะลุกนั่งให้นอนคว่ำแล้วคลานถอยลงจากเตียง
  • หากจำเป็นต้องนั่ง ควรนั่งหลังตรงพิงพนักโดยมีผ้าหรือหมอนหนุน
  • อย่านั่งนานเกินไป ควรลุกขึ้นยืนทุกๆ ชั่วโมง
  • เวลายกของหนัก ไม่ควรก้ม ควรใช้วิธีการย่อเข่าแทนการก้ม
  • ไม่ควรบิดตัว เพราะอาจทำให้หมอนรองกระดูกหลุดเพิ่มได้
  • ควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
โรคแทรกซ้อน
หมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอว ถ้าเคลื่อนรุนแรงมากขึ้นและกดทับเส้นประสาทเป็นเวลานาน อาจจะทำให้เกิดอาการชา และอ่อนแรงกล้ามเนื้อขาเป็นการถาวรได้ เช่นเดียวกับหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอ จะทำให้เกิดการชา และอ่อนแรงของกล้ามเนื้อบริเวณแขน หรือในกรณีที่กดทับรุนแรงมาก อาจทำให้เกิดอัมพฤตหรืออัมพาตได้
การป้องกันการเกิดโรคกระดูกทับเส้นประสาท
  • หลีกเลี่ยงการนั่ง ยืน เดิน เป็นระยะเวลานานๆ หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ
  • ควรลดน้ำหนักให้สมดุลกับร่างกาย
  • งดสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
  • ควรออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้อง
อ้างอิง http://www.phyathai.com/medicalarticledetail/1/7/895/th

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น