วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สัญญาณเตือนมนุษย์วัยทำงาน หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

คำแนะนำจากคุณหมอ เกี่ยวกับ​โรคกระดูกทับเส้นประสาทที่เป็นเรียกทางการแพทย์ว่า Lumbar Stenosis หรือช่องกระดูกสันหลังตีบแคบจากหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมหรือภาษาชาวบ้านเราเรียกว่า "กระดูกทับเส้น" ทำให้มีอาการชาที่ขา 2 ข้าง ร่วมกับมีอาการอ่อนแรง ต้องระมัดระวังเรื่องการล้มให้มากที่สุด เพราะเวลาเดินการทรงตัวจะทำได้ไม่สมดุลย์เกิดการลื่นล้มทำให้เกิดผลแทรกซ้อนที่ร้ายแรง คือ กระดูกหักตามมาได้ครับ การผ่าตัดใช้วิธีการขยายช่องโพรงสันหลังระดับเอว ค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายประมาณ 130,000 บาทครับ ถ้าหากเป็นข้าราชการยังไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ สำหรับโรคทางกระดูกที่สามารถเบิกหรือใช้สิทธิ์ข้าราชการเบิกจ่ายบางส่วนในโรงพยาบาลเอกชน ได้แก่ 1. การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม 2. การเปลี่ยนข้อตะโพกแบบทั้งหมด และ 3. การผ่าตัดเปลี่ยนข้อตะโพกแบบบางส่วนครับ
หมอนรองกระดูกสันหลัง เป็นอวัยวะที่คั่นอยู่ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ มีลักษณะเหนียวและยืดหยุ่น มีหน้าที่รับน้ำหนักของร่างกาย และรองรับแรงกระแทก
เส้นประสาทไขสันหลังอยู่ในโพรงประสาทไขสันหลัง มีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายและควบคุมการเกิดรีเฟล็กซ์ เช่น ชักขาออกทันทีเมื่อเหยียบตะปู เมื่อเส้นประสาทถูกกดทับจะทำให้สูญเสียการทำงานของอวัยวะนั้นๆ เช่น กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง และชา หรือปวดในตำแหน่งที่ถูกกดทับ
สาเหตุของหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท
  1. อายุมากขึ้นเกิดการเสื่อมตามวัย หมอนรองกระดูกเหี่ยวบางลง ความเหนียวและยืดหยุ่นลดลง เอ็นรอบๆข้อกระดูกสันหลังหลวมมากขึ้น ทำให้เกิดการเคลื่อนและปริแตกของหมอนรองกระดูกได้ง่าย
  2. เกิดจาการใช้งานหนัก จากการเล่นกีฬา ยกของหนัก นั่งผิดท่า เป็นต้นทำให้ เสื่อมสภาพจากการใช้งาน
  3. เกิดจากอุบัติเหตุ กระแทกรุนแรง
อาการ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเส้นประสาทที่ถูกกดทับ
อาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทระดับคอ
  • มีอาการปวดต้นคอ
  • ปวดร้าวลงไหล่แขน มือมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อและชา ทำให้หยิบจับของได้ลำบาก
อาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทระดับเอว
  • มีอาการปวดหลัง
  • ปวดสะโพกร้าว ลงขา
  • บางรายมีอาการอ่อนแรงและชาของกล้ามเนื้อขาและเท้า ทำให้เดินลำบาก
การวินิจฉัยของแพทย์
  • ตรวจร่างกาย
  • เอกซเรย์
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT - spine)
  • เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI - spine)
การรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท
  1. การรักษาด้วยยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ
  2. การทำกายภาพบำบัด และการบริหารกล้ามเนื้อ หลัง ท้อง หรือคอ
  3. การผ่าตัด เพื่อเอาหมอนรองกระดูกส่วนที่ปริ ยื่นทับเส้นประสาทออก หรือ เอาหมอนรองกระดูกที่เสื่อมสภาพออกแล้วใส่หมอนรองกระดูกเทียม การผ่าตัดมี 2 วิธี
  1. ผ่าตัดแบบเปิดแผลยาว แผลผ่าตัดยาวประมาณ 10 ซม.
  2. ผ่าตัด ส่องกล้องแผลเล็ก เรียกว่า minimally invasive spine surgery
แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดก็ต่อเมื่อ การรักษาด้วยยาและกายภาพบำบัดไม่ได้ผล ไม่สามารถลดอาการปวดหลังได้ และมีภาวะของหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท
การผ่าตัดแบบ Minimally Invasive
หลักการของการผ่าตัดแบบนี้คือ เปิดแผลให้เล็กที่สุด แต่ยังคงมีประสิทธิภาพของการผ่าตัด โดยเฉพาะความปลอดภัยของผู้ป่วย ลดการทำลายเนื้อเยื่อใกล้เคียง
อุปกรณ์ที่สำคัญของการผ่าตัด คือ กล้อง Microscope ที่มีกำลังขยายสูงมาก ทำให้แพทย์เห็นรายละเอียดได้ชัดเจนกว่ามองด้วยตาเปล่า และ Navigator เป็นเครื่องมือใช้สำหรับคำนวณพิกัดของกระดูกสันหลัง แสดงภาพ 3 มิติ แพทย์จะสามารถวางแผนการผ่าตัดได้ง่ายและแม่นยำมากขึ้น ส่วนเครื่องมืออื่นๆ ทั่วไป ได้แก่ เครื่องตัด เครื่องดูด และเลเซอร์ เป็นต้น
การผ่าตัด แพทย์จะวางยาสลบ หรือบล็อกหลังทำความสะอาดผิวหนัง จากนั้น จะกรีดแผลเล็กๆ 2 – 3 ซม. บริเวณหลังหรือคอขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่จะผ่าตัด ใส่ท่อขนาดเล็กลงไปผ่านทางรูที่เจาะไว้ แพทย์จะใส่เครื่องมือต่างๆ ลงไปในท่อและทำการผ่าตัด หลังผ่าตัดเสร็จแพทย์จะนำท่อและอุปกรณ์ทั้งหมดออก
  1. ลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหลัง หรือคอ
  2. ขณะผ่าตัดเสียเลือดน้อย
  3. แผลเล็ก 2 – 3 ซม.
  4. การฟื้นตัวไว พักฟื้นที่โรงพยาบาล น้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดแผลยาว
  5. เสี่ยงต่อการติดเชื้อของแผลน้อยกว่า
ที่มา 
http://www.phyathai.com/medicalarticledetail/1/7/832/th

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น