วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

โรคหัวใจในเด็ก : หัวใจพิการแต่กำเนิด.

โรคหัวใจในเด็ก : หัวใจพิการแต่กำเนิด....ลูกเราเป็นรึเปล่า?

สำคัญที่...หัวใจ

อวัยวะของร่างกายคนเราที่สำคัญ ในการดำรงชีวิตนั้นมีหลายอวัยวะ และที่สำคัญที่จะขาดไม่ได้คือหัวใจ โดยหัวใจคนเรานั้นมี 4 ห้อง ทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปฟอกที่ปอดและสูบฉีดโลหิตที่ฟอกแล้วไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ ดังนั้นถ้ามีความผิดปกติหรือมีความพิการของหัวใจ ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้
นพ.วัชระ จามจุรีรักษ์ เป็นกุมารแพทย์ด้านโรคหัวใจ ที่มีประสบการณ์ยาวนานจนทำให้เห็นความสำคัญของการดูแลหัวใจดวงน้อยๆ ของเด็กๆ โรคหัวใจในเด็กซึ่งพบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับหัวใจได้มากขึ้น อีกทั้งเป็นปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง คุณหมอจึงได้ให้ข้อมูลที่น่ารู้สำหรับคุณพ่อคุณแม่เพื่อเตรียมรับมือกับโรคหัวใจของเด็กๆ ได้ทันท่วงที

โรคหัวใจในเด็ก แบ่งเป็น 2 ประเภท

  1. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ซึ่งสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ตรวจพบหลังคลอด หรือตรวจพบเมื่อโตแล้ว โดยอาการจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงและชนิดของความผิดปกติของโรค ถ้ามีความรุนแรงและความผิดปกติของโรคมากอาจมีอาการเขียวหรือหัวใจวาย และเสียชีวตได้
  2. โรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลังคลอด ซึ่งมักจะมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ภูมิต้านทานต่ำ ขาดสารอาหารบางชนิด โรคที่พบได้บ่อย ได้แก่ โรคหัวใจรูห์มาติก โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โรคคาวาซากิ โรคหัวใจจากการขาดวิตามินบี 1 การเต้นผิดปกติของหัวใจ เป็นต้น
สำหรับโรคคาวาซากิปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด และพบมากขึ้นในปัจจุบัน

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่พบบ่อย ได้แก่

  • ผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่ว (Ventricular Septal Defect , VSD)
  • ผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว (Atrial Septal Defect , ASD)
  • หลอดเลือดระหว่างหลอดเลือดหัวใจ 2 เส้นไม่ปิด (Patent Ductus Arteriosus , PDA)
  • ลิ้นหัวใจห้องล่างขวาไปปอดตีบแคบ (Pulmonary Valve Stenosis , PS)
  • ลิ้นหัวใจห้องล่างซ้ายไปเลี้ยงร่างกายตีบแคบ ( Aortic Valve Stenosis , AS)
  • เส้นเลือดแดงใหญ่ตีบแคบ (Coarctation of Aorta)
  • หลอดเลือดดำใหญ่และหลอดเลือดแดงใหญ่ ออกจากหัวใจสลับกัน (Trasposition of the Great Arteries , TGA)
  • ผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่วร่วมกับลิ้นหัวใจที่ไปปอดตีบ (Tetralogy of Fallot , TOF) เป็นต้น
ลูกน้อยจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดไหม ?
ปัจจัยเสี่ยงที่พบว่าทำให้เกิดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดได้บ่อย มีดังนี้
  1. เกิดจากความผิดปกติทางด้านพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม มีความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 21 มักพบใน มารดาที่มีอายุมากขณะตั้งครรภ์ ทำให้เกิดดาวน์ซินโดรมร่วมกับเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเป็นต้น
  2. มารดาติดเชื้อขณะตั้งครรภ์โดยเฉพาะใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เช่น ไวรัสหัดเยอรมัน เอนเทอโรไวรัส เป็นต้น
  3. มารดาได้รับยาหรือสารบางอย่างในขณะตั้งครรภ์ เช่น ยาบ้า Amphetamine ยาเสบติด ยากันชักบางชนิด ยาสเตอรอยด์ ยารักษาสิวบางชนิด สุรา และบุหรี่ เป็นต้น
  4. มารดามีโรคประจำตัว เช่น เอสแอลอี เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
  5. มารดาได้รับรังสีในขณะตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก เช่น การเอกซเรย์
  6. มารดาอายุมากขณะตั้งครรภ์ เช่นอายุเกิน 35 ปี
ส่วนใหญ่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดโดยไม่ทราบสาเหตุ พบได้ประมาณ 85-90 เปอร์เซ็นต์

สังเกตุอาการลูกน้อยหัวใจพิการแต่กำเนิด

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (CONGENITAL HEART DISEASE) พบได้ประมาณ 8 คน ต่อทารกคลอดมีชีพ 1,000 คน การมีลูกหลานในครอบครัวเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดย่อมสร้างความกังวลใจ ไม่สบายใจ หรือ เป็นทุกข์อย่างมาก รวมทั้งอาจบั่นทอนเศรษฐกิจของครอบครัว ดังนั้นการที่จะทราบได้ว่าลูกเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดหรือไม่ จึงมีความสำคัญ ที่ศูนย์สุขภาพเด็กและวัยรุ่น โรงพญาบาลพญาไท 2 มีคำแนะนำถึงหลักเกณฑ์ที่สำคัญอย่างง่าย เพื่อใช้วิเคราะห์ว่าลูกเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดหรือไม่ดังนี้
  1. ลูกเขียว (Cyanosis) หรือเปล่า?
  2. เขียว (cyanosis) ในที่นี้หมายถึง ลูกมีสีผิวหนังแดงคล้ำทั่วร่างกาย โดยเฉพาะจะเห็นได้ชัดแถวริมฝีปาก ลิ้น ปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า (ไม่ใช่เขียวตามความหมายทั่ว ๆ ไป) โดยเฉพาะเวลาลูกดูดนมหรือร้อง จะดูเขียวมากขึ้น ในรายที่มีอาการนี้มานานก็จะทำให้ปลายนิ้วมือนิ้วเท้าโต ปุ้มขึ้นคล้ายกับไม่ตีกลองได้ (clubbing)
    เขียว (cyanosis) เป็นอาการแสดงของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดอย่างหนึ่งพบเฉพาะโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่มีความผิดปกติจากภายในหัวใจ ค่อนข้างมาก และ/หรือมีความผิดปกติของหลอดเลือดที่ออกจากหัวใจร่วมด้วย ทำให้เลือดดำมาปนกับเลือดแดงที่ออกมาเลี้ยงร่างกาย เลือดจึงมีสีแดงคล้ำขึ้น ทำให้เกิดภาวะเขียว (cyanosis) แต่ถ้าความผิดปกติของหัวใจนั้นไม่ทำให้เลือดดำมาผสมกับเลือดแดงก็เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดไม่เขียว (acyanosis)
    โรคหัวใจในเด็ก
  3. ลูกดูดนมแล้วเหนื่อยง่ายกว่าปกติ
  4. ลูกที่อายุยังน้อย ๆ หรือยังเล็ก เวลาดูดนม คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตพบว่าลูกดูดนมไม่ค่อยเก่ง ดูดทีละน้อย ๆ ต้องหยุดพักบ่อยและใช้เวลานานกว่าปกติในการดูดนมจนอิ่มเมื่อเทียบกับเด็กทั่ว ๆ ไป ในวัยเดียวกัน ทั้งนี้เป็นเพราะเด็กที่มีความพิการของหัวใจแต่กำเนิด อาจมีการคั่งของเลือดที่ปอด ทำให้มีการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนกับเลือดที่ปอดได้ไม่ดีเท่าที่ควรและทำให้ปอดมีความยืดหยุ่นน้อยลงด้วยทำให้เหนื่อยง่ายโดยเฉพาะตอนช่วงดูดนมหรือตอนออกกำลังกาย
  5. ลูกหายใจเร็วกว่าปกติอยู่ตลอดเวลา
  6. การเกิดอาการเช่นนี้เป็นเพราะมีการคั่งของเลือดในปอด ทำให้ต้องหายใจเร็วกว่าปกติเพื่อช่วยในการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนให้พอเพียงกับความต้องการของร่างกายเช่นเดียวกับลูกดูดนมแล้วเหนื่อยง่ายกว่าปกติ บางครั้งอาจมีอาการหายใจหอบร่วมด้วย โดยเฉพาะหลังดูดนม, เล่นหรือออกกำลังกายเพียงเล็กน้อย
  7. ลูกมีเหงื่อออกมากผิดปกติคุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตว่า ลูกมีเหงื่อออกมากกว่าปกติไม่ว่าจะอากาศร้อนหรือหนาว เช่น ขณะที่คนทั่วไปรู้สึกว่าอากาศค่อนข้างสบายแต่ลูกก็มีเหงื่อ โดยเฉพาะแถวหน้าผาก, ด้านหลังของศีรษะและหลัง เป็นต้น บางครั้งหมอนหรือที่นอนเปียกชุ่มไปหมด เป็นเพราะหัวใจต้องทำงานมากมีการใช้พลังงาน (metabolism) สูงกว่าปกติและมีการทำงานของประสาทซิมพาเธติก (Sympathetic nerve) มากกว่าปกติด้วย ทำให้ลูกมีเหงื่อออกมากกว่าปกติ ภาวะนี้จะเห็นได้ชัดเจนในเด็กที่มีภาวะหัวใจวายร่วมด้วย แต่ถ้าลูกหลานของท่านมีเหงื่อออกตอนเฉพาะอากาศร้อนหรือตอนออกกำลังกายถือว่าปกติ ไม่ต้องกังวล
  8. หัวใจลูกเต้นเร็วและแรงกว่าปกติ
  9. คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตุได้ว่าหัวใจของลูกเต้นเร็วและแรงกว่าปกติโดยมีการกระเพื่อมของหน้าอกซ้ายด้านล่างแถว ๆ ใกล้ราวนมของลูก และบางครั้งอาจเห็นการกระเพื่อมที่หน้าอกคล้ายกลองที่ถูกตีทีเดียว การที่หัวใจเต้นแรงและเร็วกว่าปกติก็เพื่อพยายามบีบเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้พอเพียงกับความต้องการที่มากกว่าปกติและเพื่อชดเชยเลือดที่พร่องไปในขณะหัวใจบีบตัวแต่ละครั้ง เช่น ในกรณีที่ผนังหัวใจรั่ว เป็นต้น และมักพบในภาวะหัวใจวาย ถ้าเป็นมานานอาจพบหน้าอกส่วนนี้นูนออกมาคล้ายหน้าอกไก่เนื่องจากหัวใจโตดันออกมา
  10. ลูกไม่ค่อยโต หรือเติบโตช้ากว่าปกติ
  11. เพราะเด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดโดยเฉพาะที่มีหัวใจวายร่วมด้วยหรือเป็นโรคหัวใจชนิดเขียว จะดูดนมไม่ค่อยเก่ง รับประทานอาหารได้น้อยและอาจมีการดูดซึมอาหารของลำไส้ไม่ดีเท่าปกติอีกด้วย เพราะมีการคั่งของเลือดทำให้ได้อาหารไม่พอเพียงกับความต้องการของร่างกาย และเด็กพวกนี้จะต้องการพลังงานมากกว่าปกติอยู่แล้ว จึงมีผลทำให้ผอมและเจริญเติบโตช้า แต่การเจริญเติบโตทางด้านสติปัญญาโดยทั่วไปเท่ากับเด็กปกติ
  12. ลูกเป็นหวัด ไอ หรือปอดบวมบ่อย
  13. ภาวะนี้จะสังเกตุเห็นได้ในเด็กที่มีภาวะหัวใจวายเพราะมีการคั่งของเลือดที่เยื่อบุผิวของหลอดลมและปอด ทำให้มีการติดเชื้อง่ายกว่าปกติ จึงเป็นหวัดหรือปอดบวมง่ายและป่วยบ่อยกว่าเด็กปกติทั่ว ๆ ไป และเมื่อป่วยก็จะใช้เวลานานกว่าจะหาย แต่ภาวะนี้ก็ต้องแยกจากภาวะภูมิแพ้หรือภูมิต้านทานผิดปกติด้วย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น