วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นเนื้องอกมดลูก

เนื้องอกมดลูก

เนื้องอกคืออะไร?

เนื้องอกมดลูก

เนื้องอกมดลูกคืออะไร

เนื้องอกมดลูก เกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์กล้ามเนื้อมดลูก ผิดปกติไป โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน มีการสันนิษฐานว่า อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ หรือ ฮอร์โมนเพศหญิงเป็นตัวกระตุ้นให้เนื้องอกโตขึ้น เนื่องจากพบว่า เนื้องอกมดลูกจะเล็กลงหลัง วัยหมดประจำเดือนเป็นส่วนใหญ่

มีโอกาสเป็นเนื้องอกมดลูกไหม ?

พบประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ช่วงอายุ 30-50ปี เป็นเนื้องอกมดลูก และ มักจะไม่รู้ตัวเนื่องจาก ไม่มีอาการผิดปกติ เนื้องอกมดลูกเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงและไม่ใช่มะเร็ง และ อัตราการกลายเป็นมะเร็งน้อยมากๆ

จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นเนื้องอกมดลูกแล้ว

ผู้ที่เป็นเนื้องอกมดลูก แต่ไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ ถ้าอยากทราบแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่เริ่มเป็นไม่มาก อาศัยการตรวจจากแพทย์ โดยการตรวจภายใน หรือ ตรวจด้วยวิธีอัลตราซาวด์

เนื้องอกพบส่วนไหนของมดลูกบ้าง ?

สามารถพบได้ในทุกๆตำแหน่งของมดลูก ได้แก่
1) ผนังด้านนอกของมดลูก
2) เกิดในตัวกล้ามเนื้อมดลูก
3) เนื้องอกที่เบียด เข้าไปในโพรงมดลูก

มีอาการอย่างไรเมื่อเป็นเนื้องอกมดลูก ?

50 เปอร์เซ็นต์ ของคนที่เป็นเนื้องอกมดลูกจะไม่รู้ตัวเนื่องจากไม่มีอาการผิดปกติให้เห็น แต่จะสามารถรู้ได้จากการตรวจสุขภาพประจำปี โดยการตรวจภายในหรือ อัลตราซาวด์ อาการผิดปกติที่พบ มีดังนี้
  • ประจำเดือนมากขึ้นและเลือดออกยาวนานหรือปวดประจำเดือน
  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง ท้องบวม ที่ท้องน้อยเพราะก้อนเนื้อใหญ่ และอาจคลำพบก้อนได้เอง
  • ปัสสาวะบ่อย เนื่องจาก เนื้องอกโตไปกด เบียดกระเพาะปัสสาวะ
  • ท้องผูกเรื้อรังเนื่องจากเนื้องอก โตยื่นไปกดเบียด ลำไส้ และ ทวารหนัก
  • เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจาก เนื้องอกโต ยื่นไปที่ช่องคลอด หรือ เนื้องอกเกิดที่ตำแหน่ง ของปากมดลูก
  • มีบุตรยากหรือแท้งง่าย เพราะเนื้องอกขัดขวางการเจริญเติบโต ของทารก หรือ ขัดขวางการฝังของตัวอ่อน

แพทย์จะตรวจวินิจฉัยได้อย่างไร

นอกจากการซักประวัติ ตรวจร่างกายแล้วปัจจุบันนี้ ยังมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆ ช่วยให้การตรวจ แม่นยำมากขึ้น เช่น การใช้เครื่องอัลตราซาวด์ โดยผ่านทางหน้าท้อง หรือ ผ่านทางช่องคลอด เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป บางรายอาจจะจำเป็นต้อง ตรวจโดยการส่องกล้องในช่องท้อง หรือในโพรงมดลูกขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

รักษาอย่างไรเมื่อเป็นเนื้องอกมดลูก

แนวทางการรักษาของแพทย์ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆไป ปัยจัยที่ประกอบ การพิจารณาได้แก่ ขนาดของเนื้องอก อายุ มีบุตรหรือยัง เป็นต้น

แนวทางการรักษามีดังต่อไปนี้

  • การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่  ยาลดปริมาณประจำเดือน ยาบรรเทาปวด ซึ่งวิธีเหมาะสมกับเนื้องอกขนาดเล็กๆ ขนาดไปเกินผลมะนาว หรือ ผลส้ม หากอายุมากก็ไม่ต้องรักษาด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม
  • การผ่าตัดรักษามีหลายวิธีดังนี้
    • การผ่าตัดทางหน้าท้อง เป็นวิธีการที่ทำกันเป็นส่วนใหญ่ โดย กรีดแผลที่หน้าท้องยาวประมาณ 6-8 นิ้ว อาจจะตัดเอาเฉพาะก้อนเนื้องอกออก (Myomectomy) สำหรับผู้ที่ต้องการจะมีบุตรในอนาคต หรืออาจจะตัดมดลูกออก ขึ้นอยู่กับความผิดปกติของร่างกาย อาการรุนแรงแค่ไหน เช่น ปวดมากและเป็นผู้ที่มีบุตรเพียงพอแล้ว
    • การผ่าตัดทางช่องคลอด วิธีนี้จะไม่มีแผลที่หน้าท้อง เจ็บน้อยกว่า ฟื้นตัวได้เร็วกว่า แต่มีข้อจำกัด ที่ทำให้การผ่าตัดวิธีนี้ ทำได้ยากขึ้น คือ เนื้องอกขนาดใหญ่ มีพังผืดในอุ้งเชิงกราน และช่องคลอดแคบ
    • ผ่าตัดโดยใช้กล่องส่องช่องท้อง โดยการเจาะช่องท้องเป็นแผลเล็กๆ ขนาด 0.5 – 1เซนติเมตรจำนวน 3-4 แผล เพื่อเป็นรูสำหรับใส่เครื่องมือผ่าตัดและกล้องส่องช่องท้อง (Laparoscope) ซึ่งตัดเชื่อมกับเครื่องรับสัญญาณ เพื่อแสดงผลที่จอภาพทำให้แพทย์มองเห็นอวัยวะภายในช่องท้อง อุ้งเชิงกราน  และควบคุมการ ผ่าตัดภายนอกช่องท้องได้ (เพิ่มข้อมูลการผ่าตัดส่องกล้อง)
ตำแหน่งแผลที่ เจาะช่องท้องเป็นรู ได้แก่ บริเวณ สะดือ สำหรับใส่กล้องเล็กๆ ส่วนตำแหน่ง กลางท้องน้อย เหนือหัวหน่าว และด้านข้างท้องน้อย สำหรับใส่เครื่องมือผ่าตัด
ข้อดีของการผ่าตัดโดยส่องกล้อง
1.แผลผ่าตัดเล็ก
2.เจ็บแผลเล็กน้อย เสียเลือดน้อย
3.ใช้เวลาพักที่ โรงพยาบาลน้อยลง
4.การฟื้นตัวและ ทำกิจวัตรประจำวันได้เร็ว
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
  • แพทย์จะซักประวัติตรวจร่างกาย
  • หากมีโรคประจำตัว แพ้ยาอะไรควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
  • หากรับประทานยาประจำ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
  • ทีมแพทย์และพยาบาล ทำการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ก่อนผ่าตัด
  • ต้องงดน้ำ และ อาหารทุกชนิดก่อนเข้ารับการผ่าตัดตามคำสั่งแพทย์
การปฏิบัติตัวหลังจากผ่าตัดขณะอยู่โรงพยาบาล
  •  ขณะอยู่โรงพยาบาล แพทย์อาจให้น้ำเกลือ จนกว่าผู้ป่วยจะรับประทานอาหารได้ และอาจใส่สายสวนปัสสาวะ เอาไว้ จนกว่าแพทย์จะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ผู้ป่วยห้ามดึงสายออกเอง
  • หากมีอาการปวด หรือผิดปกติใดๆ แจ้งให้พยาบาลทราบ
  • การขยับลุกนั่งบนเตียงหรือเดิน จะช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ไว ลดอาการท้องอืด ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ ว่าอนุญาต ให้เคลื่อนไหวร่างกายได้แค่ไหน

การดูแลตนเองหลังผ่าตัด เมื่อกลับบ้าน

1.ดูแลแผลผ่าตัดไม่ให้เปียกน้ำ หลีกเลี่ยงการแช่ตัวในสระหรืออ่างน้ำ
2.ทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธ์ ภายนอกทุกครั้งหลังถ่ายอุจจาระและปัสสาวะห้ามสวนล้างช่องคลอด
3.รับประทานอาหาร ที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำวันละอย่างน้อย 8 แก้ว รับประทานผักผลไม้ เพื่อลดปัญหาท้องผูก จะได้ไม่ต้องออกแรงเบ่งมาก
4.ออกกำลังกายเบาๆ ห้ามหักโหม เช่นเดินรอบบ้าน
5.ควรนอนหลับวันละ 8-10 ชั่วโมง
6.หลังผ่าตัด2 สัปดาห์ ทำงานเบาๆ เช่นกวาดบ้าน ทำอาหาร  หลังผ่าตัด6 สัปดาห์ เริ่มทำงานปกติได้  หลังผ่าตัด
4-6 เดือน ไม่ควรยกของหนัก เช่น อุ้มเด็ก
7.งดเพศสัมพันธ์ 6 สัปดาห์หลังผ่าตัด หรือตามคำแนะนำของแพทย์
8.รับประทานยาให้ตรงเวลาและครบจำนวนตามคำสั่งแพทย์
9.ไปพบแพทย์ตามนัด
หมายเหตุ การกำหนดระยะเวลาการทำกิจกรรมแต่ละอย่างนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เป็นหลัก
อาการแทรกซ้อนที่ควรรีบพบแพทย์
  • มีไข้สูง
  • อาการปวดไม่ทุเลาลง
  • แผลผ่าตัดบวมแดง หรือมีเลือดซึมแฉะ
  • มีเลือดออกทางช่องคลอด เป็นเลือดสดๆลิ่มๆ จนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ
  • ตกขาวมีกลิ่นผิดปกติ
  • ปัสสาวะแสบขัด
พญ.เนตร บุญคุ้ม
สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหญิง ศูนย์สุขภาพหญิง โรงพยาบาลพญาไท 3
เข้ารับคำปรึกษาได้ที่ : ศูนย์สุขภาพหญิง โรงพยาบาลพญาไท 3
วันและเวลาทำการ : 07.30 – 22.00 น. (ทุกวัน)
Call Center 1772

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น