วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ไวรัสตับ อันตราย ! ถ้าไม่รักษา


ไวรัสตับ

ไวรัสตับหมายถึงอะไร ?

หมายถึง โรคตับอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส เมื่อติดเชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์ตับ จะก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบ ทำให้การทำหน้าที่ของตับผิดปกติ มีอาการตับบวมโต มีอาการอ่อนเพลีย
ไวรัสตับอักเสบมีหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบเอ, บี, ซี, ดี, อี เป็นต้น แต่ที่พบบ่อยและเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขประเทศไทย ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบเอ ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี

ความสำคัญของตับ

ตับในผู้ใหญ่ปกติมีน้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม อยู่บริเวณช่องท้องด้านขวาบน และอยู่ใต้กระบังลม ทำหน้าที่ผลิตน้ำดีเพื่อช่วยย่อยอาหาร ทำหน้าที่สะสมอาหารเช่น แป้ง ไขมัน โปรตีน ไว้ใช้เมื่อร่างกายต้องการและ ทำหน้าที่กำจัดสารพิษต่างๆ เช่นยาและเชื้อโรค

ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบได้อย่างไร ?

  • จากกลุ่มผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบอยู่ในร่างกายแต่ไม่แสดงอาการ สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ เรียกว่า พาหะ (Carrier) ซึ่งพาหะมักเป็นได้กับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี เท่านั้น
  • ไวรัสตับอักเสบเอและอี ติดต่อทางอาหาร น้ำดื่ม การสัมผัสอุจจาระ ฉะนั้นการป้องกันควรดื่มน้ำต้มสุก อาหารปรุงสุก ล้างมือให้สะอาด ผักผลไม้ล้างให้สะอาด ยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบอี ส่วนไวรัสตับอักเสบเอมีวัคซีนป้องกัน ที่มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย
  • ไวรัสตับอักเสบบีและซี แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้โดยทางเพศสัมพันธ์ ทางเลือด เช่น เจ้าหน้าที่พยาบาลถูกเข็มฉีดยาที่มีเชื้อไวรัสตำมือ ผู้ที่ติดยาเสพติดแล้วใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เป็นต้น การติดเชื้อจากแม่สู่ลูกสำหรับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี มีโอกาสสูงมาก แต่ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ฉีดให้ทารกหลังคลอดทุกราย ทำให้ป้องกันการติดต่อจากแม่สู่ลูกได้ดีมาก

อาการของโรคตับอักเสบเฉียบพลัน

ตับอักเสบเฉียบพลันจากไวรัสตับอักเสบทุกชนิด มีอาการคล้ายกัน ส่วนอาการจะน้อยหรือมากขึ้นอยู่กับปริมาณของเชื้อไวรัสที่ร่างกายได้รับและสภาพร่างกายดั้งเดิมของผู้ป่วย ได้แก่ อาการอ่อนเพลีย จุกแน่นใต้ชายโครงขวา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย ปัสสาวะสีเข้ม ตัวเหลือง ตาเหลือง ประมาณ 1 – 4 สัปดาห์ อาการตัวเหลือง ตาเหลืองจะหายไป

อาการตับอักเสบเรื้องรัง

เชื้อไวรัสที่ทำให้ตับอักเสบเรื้อรัง มี 2 ชนิด คือ เชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซี มักไม่แสดงอาการ บางรายอาจรู้สึกอ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียนบ้างในช่วงที่มีภาวะตับอักเสบ การติดเชื้อไวรัสจะทำให้เกิดการทำลายของเซลล์ตับทีละน้อยจนเกิดภาวะตับแข็งและเพิ่มโอกาสในการเกิดมะเร็ง สามารถตรวจดูการอักเสบของตับได้จากการตรวจเลือด อาการตับแข็งและมะเร็งตับ ในระยะแรกไม่มีอาการแต่อาจมีอาการเพลียบ้าง มักมาพบแพทย์ด้วยภาวะแทรกซ้อน เช่น ท้องบวม เท้าบวม อาเจียนเป็นเลือด ตัวตาเหลือง

จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นไวรัสตับอักเสบ ?

  • ทราบโดยการตรวจเลือดดูระดับ SGOT , SGPT ซึ่งเป็นเอ็นไซม์ ที่ประกอบไปด้วยโปรตีนที่ตับสร้างขึ้น มีค่าปกติไม่เกิน 40 mg/dl ถ้าตับอักเสบจะมีค่ามากกว่า 40 mg/dl
  • การตรวจเลือดหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ
    • ไวรัสตับอักเสบเอตรวจ IgM Anti HAV - เป็นการตรวจภูมิคุ้มกันไอจีเอ็มต่อไวรัสเอ
    • ไวรัสตับอักเสบบีตรวจ HBsAg(Hepatitis B surface Antigen)- เป็นการตรวจโปรตีนบนผิวของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ถ้าพบโปรตีนในปริมาณสูง(ผลบวก)หมายถึงผู้ป่วยมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และสามารถแพร่เชื้อได้ Anti-HBs เป็นการตรวจภูมิต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ถ้าผลบวกแปลว่ามีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
    • ไวรัสตับอักเสบซี ตรวจ Anti-HCV - เป็นการตรวจภูมิต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบซีจะตรวจ พบได้ก็ต่อเมื่อติดเชื้อไปแล้วระยะหนึ่ง อย่างน้อย 5 – 6 สัปดาห์ ซึ่งถ้าผลตรวจเป็นนบวก ก็ต้องตรวจหาปริมาณไวรัส (HCV RNA) เพื่อยืนยันการติดเชื้ออีกครั้งหนึ่ง
  • ไวรัสตับ
  • การตรวจด้วยคลื่นเสียง (Ultrasound) หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อดูโครงสร้างของตับ ว่าตับแข็ง หรือไม่ และมีก้อนหรือไม่
  • การตรวจชิ้นเนื้อตับ จะทำเมื่อมีข้อบ่งชี้จำเพาะ ซึ่งต้องได้รับการพิจารณาตรวจโดยแพทย์

การรักษาไวรัสตับอักเสบ

  • ไวรัสตับอักเสบเอ บี ชนิดเฉียบพลัน และอีส่วนใหญ่ แพทย์จะรักษาแบบประคับประคองรักษาตามอาการ เน้นการรักษาเพื่อลดการอักเสบของตับ เช่น รับประทานอาหารได้น้อย อ่อนเพลียอาจจะให้น้ำเกลือ
  • แนะนำการปฏิบัติตัว ได้แก่ การพักผ่อนมากๆในช่วงที่มีอาการอ่อนเพลีย สามารถทำกิจกรรมที่ไม่ต้องออกแรงมาก การรับประทานอาหารอย่างพอเพียง หลีกเลี่ยง อาหารไขมันสูง งดแอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงยาพาราเซตามอล
  • การตรวจติดตามผลเลือดเป็นระยะเพื่อดูการทำงานของตับว่าดีขึ้นหรือไม่
ไวรัสตับ

การรักษาไวรัสตับอักเสบซี

ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี ส่วนใหญ่จะเป็นเรื้อรังถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอาจจะกลายเป็นโรคตับแข็ง มะเร็งตับ และเสียชีวิตในที่สุด การรักษาขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของตับ ถ้าหากตับวาย หรือมะเร็งตับ แพทย์จะไม่รักษาด้วยยารักษาไวรัสตับอักเสบซี เพราะจะเน้นที่การรักษามะเร็งมากกว่า หรือหากมีภาวะตับวายการรักษาจะมีความเสี่ยงสูง ฉะนั้นการรักษาขึ้นอยู่กับ ดุลยพินิจของแพทย์

การรักษาไวรัสตับอักเสบซีด้วยยา

มาตรฐานล่าสุดใช้ยา 2 ตัวรักษาควบคู่กัน ได้แก่
  1. Interferon มีฤทธิ์สร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายช่วยกำจัดไวรัสตับอักเสบซีได้ดียิ่งขึ้น
  2. Ribavirin ทำให้การแบ่งตัวของไวรัสตับอักเสบซีช้าลงและจะได้ผลดี เมื่อใช้คู่กับ Interferon

ข้อห้ามของการใช้ยารักษาไวรัสตับอักเสบซี

เนื่องจากยามีผลข้างเคียงไม่ควรใช้ในรายที่มีปัญหาเหล่านี้ ได้แก่
  • ผู้ที่เกิดภาวะตับแข็งแล้ว
  • หญิงตั้งครรภ์และ ผู้ที่ไม่แน่ใจว่าจะคุมกำเนิดได้ดีระหว่างการรักษา เพราะมีผลกระทบต่อทารก
  • ผู้ที่มีโรครุนแรง เช่น โรคปอด โรคไต โรคหัวใจ เป็นต้น

ผลข้างเคียงของการรักษาไวรัสตับอักเสบซีด้วยยา

มีอาการไข้หนาวสั่น เหนื่อย เพลีย หงุดหงิด ซึมเศร้า นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร โลหิตจาง แต่อาการจะไม่รุนแรงเมื่อเวลาผ่านไปหลังการรักษาเสร็จสิ้น อาการจะดีขึ้น

ไวรัสตับอักเสบมีโอกาสรักษาหายหรือไม่ ?

ไวรัสตับอักเสบบี เมื่อเป็นในระยะเฉียบพลันแล้ว มีโอกาสหายขาดได้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ที่ติดเชื้อ แต่มี 5 – 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นตับอักเสบเรื้อรัง
ไวรัสตับอักเสบ เอและ อี การรักษาจะหายขาด ส่วนใหญ่หายได้เองและมีภูมิต่อโรค ทำให้ไม่เป็นโรคนี้ซ้ำอีก และไม่เป็นตับอักเสบเรื้อรัง ยกเว้นไวรัสตับอักเสบอี ในหญิงตั้งครรภ์ มีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง
ไวรัสตับอักเสบซีประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ เป็นตับอักเสบเรื้อรัง ผลการรักษาขึ้นกับชนิด (Genotype) ของไวรัส ตับอักเสบ ซี

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ

  • สามารถออกกำลังกายได้ปกติ แต่ไม่ควรหักโหมในช่วงที่มีอาการตับอักเสบเฉียบพลัน
  • ควรพักผ่อนให้พอเพียง
  • งดการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทำให้เชื้อไวรัสแบ่งตัวได้มากขึ้น และทำให้เซลล์ตับเสื่อมเร็วขึ้น
  • การรับประทานยาทุกชนิด ควรปรึกษาแพทย์
  • การพบแพทย์ตามนัด เพื่อตรวจเลือดดูการทำงานของตับเป็นระยะ
  • การมีเพศสัมพันธ์ควรสวมถุงยางอนามัย
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง
  • เมื่อมีการผ่าตัดหรือทำฟัน ควรแจ้งแพทย์ทราบเสมอ
  • หลีกเลี่ยงความเครียด
  • แนะนำให้คนใกล้ชิดที่อยู่บ้านเดียวกัน ให้ตรวจเลือด และฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอและบี
  • งดการบริจาคโลหิต

การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ

เราสามารถป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบด้วยการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ได้แก่
  • ดื่มน้ำต้มสุก อาหารปรุงสุก ผักผลไม้ล้างสะอาด
  • การล้างมือบ่อยๆ หลังเข้าห้องน้ำ และก่อนรับประทานอาหาร
  • การไม่สำส่อนทางเพศให้ความสำคัญกับ การสวมถุงยางอนามัย
  • ควรตรวจเลือดก่อนแต่งงาน เพื่อตรวจหาไวรัสตับอักเสบบีและซี เนื่องจากเป็นพาหะได้
  • ไม่ควรเสพยาเสพติด เพราะเสี่ยงต่อการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสเลือด สารคัดหลั่ง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ควรสวมถุงมือขณะใช้เข็มฉีดยา
  • การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอและบี สำหรับบุคคลที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้
นพ.โชติ  เหลืองช่อสิริ
 นพ.โชติ เหลืองช่อสิริ
แพทย์เฉพาะทางโรคระบบทางเดินอาหารและตับ
ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
โรงพยาบาลพญาไท 2 อินเตอร์เนชันแนล

Phyathai Call Center 1772

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น