วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

โรคลมชักในเด็ก อันตรายที่ครอบครัวต้องระวังทุกฝีเก้า

 โรคลมชักในเด็ก อาการชัก (seizure) คือ ภาวะที่ผู้ป่วยมีอาการแสดงออกทางร่างกายหรือความรู้สึกตัวที่ผิดไปจากปกติอันเนื่องจากการนำกระแสประสาทในสมองที่มากกว่าปกติ 
           โรคลมชัก (epilepsy) คือ อาการชักที่เกิดขึ้นซ้ำตั้งแต่สองครั้งขึ้นไปโดยไม่มีสิ่งกระตุ้น เช่นความผิดปกติของเกลือแร่ ภาวะติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง หรือไข้สูง 

             โรคลมชักในเด็กเป็นปัญหาทางระบบประสาทที่พบบ่อย ช่วงอายุที่พบว่ามีอุบัติการณ์การเกิดโรคลมชักมากคือเด็กในช่วงอายุ 5 ปีแรก หลังจากนั้นความเสี่ยงการเกิดโรคลมชักจะลดลงและสูงขึ้นได้อีกในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ อาการชักที่เกิดขึ้นในครั้งแรก มีโอกาสเกิดซ้ำได้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ตรวจพบมีความผิดปกติของคลื่นสมอง, มีประวัติพัฒนาการล่าช้า, มีประวัติครอบครัวเป็นโรคลมชัก, มีประวัติชักครั้งแรกอายุน้อย หรือเคยมีประวัติไข้สูงแล้วชักตอนเด็กๆ
ประเภทของอาการชัก

              อาการชักเฉพาะส่วน คือ การเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าสมองโดยเริ่มจากจุดใดจุดหนึ่ง ในสมอง แล้วทำให้เกิดอาการแสดงต่างๆ โดยที่ขณะนั้นผู้ป่วยอาจสูญเสียความรู้สึกตัวหรือไม่ก็ได้ ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยกระตุกแขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่ง หรืออาการชักที่หันศีรษะไปด้านใดด้านหนึ่ง 

            อาการชักทั้งตัว คือ การที่มีการเปลี่ยนแปลงคลื่นไฟฟ้าสมองเป็นบริเวณกว้างมีผลทำให้สมองทั้งสองข้างเกิดความผิดปกติจึงมักทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความรู้สึกตัว เช่น การชักเกร็ง กระตุกเป็นจังหวะทั้งตัว อาการเหม่อตาลอยหรืออาจล้มลงเพราะเสียความตึงตัวของกล้ามเนื้อ

การวินิจฉัยโรคลมชัก 
          การวินิจฉัยโรคลมชัก จะต้องอาศัยการซักประวัติและตรวจร่างกาย เช่น ประวัติการคลอด พัฒนาการของเด็ก อุบัติเหตุต่อสมอง ประวัติการได้รับสารพิษ ประวัติการชักในหมู่ญาติ การตรวจร่างกายทางระบบประสาทอย่างละเอียด การตรวจพัฒนาการ การวัดขนาดศรีษะและการตรวจหาความผิดปกติของผิวหนัง เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการคือ

1. การตรวจเลือด เพื่อดูระดับน้ำตาล และเกลือแร่ในร่างกาย
2. การตรวจน้ำไขสันหลัง จะทำในกรณีที่สงสัยภาวะการติดเชื้อในระบบประสาทหรือสงสัยอาการชักจากโรคทางพันธุกรรมบางอย่าง 
3. การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) เป็นการตรวจที่มีประโยชน์มากช่วยในการยืนยันการวินิจฉัย,จำแนกชนิดของโรคลมชักและช่วยเป็นแนวทางในการรักษาตลอดจนการทำนายโรค อย่างไรก็ตามการที่คลื่นไฟฟ้าสมองปกติ ไม่ได้แสดงว่าผู้ป่วยคนนั้นไม่ได้เป็นโรคลมชัก เพียงแต่ไม่พบความผิดปกติขณะตรวจ โดยทั่วไปจะแนะนำให้ผู้ป่วยอดนอน นอนดึกๆในคืนก่อนที่จะทำการตรวจเพราะจะช่วยทำให้โอกาสตรวจพบความผิดปกติสูงขึ้น
4. การตรวจทางรังสีวิทยา เช่น CT scan และ MRI จะทำในกรณีที่มีอาการชักเฉพาะที่ ตรวจพบมีความผิดปกติของระบบประสาท หรือในกรณีที่ควบคุมอาการชักไม่ได้ 

การรักษาโรคลมชัก 
1. การรักษาขณะชัก

• จัดผู้ป่วยให้อยู่ในท่าที่เหมาะสม 
• ให้การดูแลการหายใจ และการไหลเวียนเลือด 
• ให้ยาหยุดชัก
• เจาะเลือดหรือตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาสาเหตุของอาการชัก 
• ให้สารน้ำเพื่อสะดวกในการให้ยา 

2. การป้องกันอาการชักซ้ำ 
          การเลือกยากันชักให้เหมาะสมกับรูปแบบของการชัก และชี้แจงบิดามารดาถึงประโยชน์และอาการไม่พึงประสงค์ของยากันชักเพื่อตัดสินใจร่วมกันในการรักษา และเมื่อควบคุมอาการชักได้แล้ว ควรให้ยาต่อเนื่องประมาณ 2-4 ปี โดยขณะที่ผู้ป่วยได้ยากันชัก ต้องมาติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด และเจาะเลือดดูระดับยาในเลือดรวมถึงดูผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการรับประทานยาด้วย เมื่อรับประทานยาไปจนครบกำหนด โดยไม่มีอาการชักในระหว่างได้รับยา จึงพิจารณาหยุดยากันชักและพบว่าร้อยละ 70 สามารถหยุดยาได้โดยไม่มีอาการชักซ้ำอีก

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น