วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เลือดออกในสมอง จากความดันโลหิตสูง ผู้สูงอายุต้องระวัง

โรคหลอดเลือดในสมองแตกจากภาวะความดันโลหิตสูง

เป็นที่ทราบกันดีว่า โรคหลอดเลือดสมอง หรือเลือดออกในสมองเป็นโรคที่พบบ่อยในประเทศไทย เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ

นอกจากนั้นยังส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้ป่วย เนื่องจากภาวะทุพพลภาพทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นภาระของสมาชิกในครอบครัว ในเรื่องการดูแลปรนนิบัติ และค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วย
คำถาม อาการแสดงของโรคนี้มีอะไรบ้าง
คำตอบ อาการที่แสดงออกจะเป็นลักษณะเฉียบพลัน เช่น
• ปวดศีรษะขึ้นมาทันที บางทีมีอาเจียนร่วมด้วย หรืออาจหมดสติ
• แขน, ขา อ่อนแรง หรือชาขึ้นมาทันทีครึ่งซีก หรือด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย
• มีอาการพูดลำบาก พูดไม่ออก ออกเสียงไม่ชัด ฟังไม่เข้าใจภาษา
• เวียนศีรษะ บ้านหมุน หรือเสียการทรงตัว

ในบางรายเกิดขึ้นในขณะที่ผู้ป่วยยืน หรือเดินอยู่ อาการแขน, ขาอ่อนแรงครึ่งซีก ทำให้ผู้ป่วยพยุงหรือทรงตัวไม่อยู่แล้วล้มลง เมื่อญาติมาพบทำให้เข้าใจว่าเกิดอุบัติเหตุแล้วทำให้มีเลือดออกในสมอง แต่ผลจากการตรวจร่างกายและการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ทำให้แพทย์สามารถแยกสาเหตุของหลอดเลือดในสมองแตกออกจากการเกิดอุบัติเหตุได้

คำถาม หลอดเลือดในสมองแตกจากภาวะความดันโลหิตสูง มีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นอะไรบ้าง
คำตอบ
1. ภาวะความดันโลหิตสูง
2. ไขมันในเลือดสูง
3. การสูบบุหรี่
4. โรคเบาหวาน
5. การดื่มแอลกอฮอล์
6. อายุมาก
7. มีประวัติเคยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ในผู้ป่วยบางรายอาจมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่า 1 อย่าง

คำถาม จะทราบได้อย่างไรว่าหลอดเลือดที่แตกเกิดจากภาวะความดันโลหิตสูง
คำตอบ
• โดยการตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ซึ่งจะปรากฏให้เห็นก้อนเลือดที่ออกในเนื้อสมอง ซึ่งอยู่ลึกลงไปจากผิวสมอง 4-5 เซนติเมตร ในส่วนที่เรียกว่า “เบซิล แกงเกลีย” (Basal ganglia) ซึ่งเป็นส่วนที่พบได้บ่อยมากกว่าส่วนอื่น เลือดที่ออกมานั้นเกิดจากการแตกของหลอดเลือดฝอยในเนื้อสมอง ถึงแม้ว่าหลอดเลือดที่แตกจะมีขนาดเล็ก แต่ก็มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่เลือดออกมาเป็นจำนวนมาก จนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

นอกจากนั้นเรายังสามารถทราบถึงขนาดของก้อนเลือด รวมทั้งผลกระทบต่อสมองส่วนอื่น ๆ อีกด้วย โดยตำแหน่งที่เห็นในเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง แพทย์จะสามารถบอกได้ว่าเลือดที่ออกมานั้น เกิดจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับภาวะความดันโลหิตสูง หรือเกิดจากสาเหตุอื่น เช่นเลือดออกในสมองจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ เช่น ถูกกระแทก หรือเลือดออกในสมองจากการที่ผู้ป่วยมีหลอดเลือดผิดปกติในสมอง แต่ในบางรายก็อาจจะแยกสาเหตุได้ยากซึ่งอาจจะต้องใช้การตรวจอื่น ๆ เข้ามาช่วย เช่น การฉีดสีแล้วตรวจเอ็กซเรย์เพื่อดูหลอดเลือดในสมอง หรือการตรวจโดยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

ที่มาข้อมูล: 
http://www.phyathai.com/medicalcenterdetail_article/2/93/PYT1/th

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น