วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ไอเรื้อรัง ไม่ยอมหาย รบกวนคนรอบข้าง

ไอเรื้อรัง

อาการไอ แน่นอนว่าเป็นอาการที่น่ารำคาญใจของใครหลายๆคน บางคนคิดว่าแค่ไอปล่อยไปเดี๋ยวก็หายเอง แต่หากนานวันไปยังมีอาการไออยู่อย่างต่อเนื่อง นั่นหมายถึงสัญญาณของการเกิดโรคมากมาย
อาการไอเกิดจากการมีสิ่งแปลกปลอมไประคายเคืองหรือการที่เสมหะอยู่ในหลอดลม ร่างกายก็จะกำจัดทิ้งด้วยการไอออกมา บางกรณีที่ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอม อาจมีบางอยากไปกดทับที่บริเวณของเนื้อปอดหรือปลอดลมจึงทำให้เกิดอาการไอ เช่น ก้อนเนื้อหรือมะเร็งปอด ทำให้ร่างกายนั้นพยายามจะขับออกมาแต่ไม่สามารถขับได้จนเป็นสาเหตุของอาการไอเรื้อรังเกิดขึ้น

อาการไอเรื้อรังส่งผลให้เกิดโรคใดบ้าง?

  • วัณโรคปอด พบได้ในวัยกลางคนขึ้นไป หรือผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ รวมไปถึงผู้ที่อยู่ใกล้ผู้ที่เป็นวัณโรคปอด โดยจะมีอาการไอเรื้อรังร่วมกับมีไข้เป็นเวลานาน มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด บางรายอาจไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย
  • มะเร็งปอด ผู้ป่วยมักมีอาการไอเรื้อรัง บางราย อาจไอออกเป็นเลือดสด บางรายอาจมีอาการเจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือมีไข้ร่วมด้วย ผู้ป่วยมักมีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน แต่บางรายอาจไม่มีประวัติสูบบุหรี่ก็ได้
  • ถุงลมโป่งพอง มักพบในคนที่มีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน ผู้ป่วยมักมีอาการไอแบบมีเสมหะเรื้อรัง และหอบเหนื่อยง่าย
  • โรคหืด พบได้ในวัยเด็ก มักมีอาการไอ หอบเหนื่อย หายใจดังวี้ด เมื่อสัมผัสถูกสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งกระตุ้น เช่น ฝุ่น หรือเชื้อรา เป็นต้น
  • หลอดลมอักเสบ มักไอมีเสมหะ อาจมีไข้ร่วมด้วยในบางราย และมักไอมากเมื่อถูกสิ่งระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ ฝุ่นละออง อากาศเย็น เป็นต้น
  • โรคภูมิแพ้ มักมีอาการคันจมูก คันคอ ไอ จาม บางรายมีน้ำมูกใส ๆ ร่วมด้วย มักมีอาการเมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่นละอองเกสร ขนสัตว์ อากาศเย็น เป็นต้น อาการจะทุเลาเมื่อกินยาแก้แพ้ และกำเริบอีกเมื่อหยุดยา
  • กรดไหลย้อน โดยจะมีอาการไอเรื้อรังทุกวันนานๆเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน มีอาการไอแห้งๆหลังตื่นนอนตอนเช้า หรือหลังรับประทานอาหาร บางรายมีอาการแสบคอหรือเสียงแหบช่วงตื่นนอน ร่วมกับอาการแสบอก จุกออก หรือแสบจุกคอ

อาการไอแบบใดที่เป็นอันตรายควรรีบพบแพทย์?

  • ไอนานกว่า 3 สัปดาห์ ขึ้นไป
  • อาการไอที่มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีเลือดปน น้ำหนักลด เบื่ออาหาร มีไข้เกิน 7 วันหอบเหนื่อย อ่อนเพลีย เจ็บหน้าออกเป็นต้น

การตรวจหาสาเหตุของการไอเรื้อรัง

       เนื่องจากสาเหตุจากการไอเรื้อรังนั้นเกิดจากโรคที่ต่างกัน จึงควรรีบมาพบแพทย์หากมีอาการไอเรื้อรัง เพื่อให้แพทย์ทำการตรวจด้วยการเอ็กซเรย์ทรวงอก และพบว่าเอ็กซเรย์นั้นปกติ อาจจำเป็นต้องตรวจเอ็กซเรย์โพรงจมูก และไซนัสถ้าสงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับภูมิแพ้ และมีจมูกอักเสบเรื้อรัง อาจจะต้องตรวจสมรรถภาพปอด และตรวจดูความไวของหลอดลมว่าผิดปกติหรือไม่ ในกรณีที่สงสัยว่าอาจะเป็นโรคหอบหืด อาจจะต้องตรวจทางเดินอาหารส่วนต้นโดยการเอ็กซเรย์ หรือการส่องกล้องดู หรือตรวจดูภาวะการเป็นกรดถ้าสงสัยว่าเป็นโรคกรดในกระเพาะไหลย้อนทางเดินอาหาร

การดูแลตนเอง

       ผู้ที่มีอาการไอเรื้อรังควรพักผ่อนและงดการใช้เสียง ออกกำลังอยู่สม่ำเสมอ งดรับประทานของทอดและของมันและควรดื่มน้ำให้มากๆ นอกจากนั้นหากทานยาแก้ไอแล้วยังไม่ดีขึ้นควรรีบมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุในการรักษา

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น