วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558

แขนขาอ่อนแรง รู้ตัวอีกทีอาจเป็นอัมพาตระยะสุดท้าย

หากใครรู้สึกว่าตนเองมีอาการแขนขาอ่อนแรง อย่าชะล่าใจเพราะนั่นเป็นสัญญาณของโรคกระดูกคอเสื่อมโดยไม่รู้ตัว บางรายมาพบแพทย์เพราะไม่สามารถใช้มือทำงานละเอียดอ่อนได้เหมือนเดิม เช่น การเซ็นชื่อเขียนหนังสือ การเล่นดนตรี หรือการติดกระดุม เป็นต้น

โรคกระดูกคอเสื่อมเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ส่วนมากเกิดจากอิริยาบถหรือท่าที่ผิดสุขลักษณะ เช่น การหนุนหมอนสูงเกินไป การทำงานในท่าเดียวนาน ๆ นั่งเขียนหนังสือ นั่งดูเอกสาร นั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ นั่งดูทีวี เป็นต้น

อาการแสดง

  • อาการที่คอ - ปวดคอ บ่า หรือไหล่เรื้อรัง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดร้าวไปจนถึงบริเวณท้ายทอยได้
  • อาการที่แขน - อาการแสดงที่แขนมีได้ 3 แบบ คือ อาการปวด ชา หรือการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ อาการแสดงที่แขนนี้เกิดจากการที่เส้นประสาทสันหลังส่วนคอถูกรบกวน ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหรือชาลงมาตามบริเวณแขน ข้อศอก หรือนิ้วมือได้ การอ่อนแรงของกล้ามเนื้อก็มีลักษณะคล้ายอาการปวดและชา คือจะมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อมัดที่เลี้ยงด้วยเส้นประสาทเส้นที่ถูกกดทับ
  • อาการที่ขา - หากมีการกดทับของไขสันหลังมักไม่มีอาการปวด แต่อาการจะแสดงออกในลักษณะการเดินที่ผิดปกติ เช่น ขาตึงผิดปกติ รู้สึกโคลงเคลงเหมือนล้มง่าย เดินก้าวสั้น เดินตามคนอื่นไม่ทัน ผู้ป่วยบางรายอธิบายว่าเดินเหมือนขาเป็นตะเกียบ หรือเดินเหมือนหุ่นยนต์ อาการเหล่านี้หากทิ้งไว้นานอาการอาจแย่ลงจนมีกล้ามเนื้อลีบจนกระทั่งไม่สามารถเดินได้ในที่สุด

การรักษาอาการแขนขาอ่อนแรงจากโรคกระดูกคอเสื่อม

  • กายภาพบำบัด
  • การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงประสาท
  • การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนคอ
  • การผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกเทียมบริเวณคอ
แขนขาอ่อนแรง

นวัตกรรมการรักษาโรคกระดูกคอเสื่อม โดยการผ่าตัดผ่านกล้อง

ในกรณีที่หมอนรองกระดูกเสื่อมรุนแรง มีอาการปวดคอเรื้อรัง หรืออาการของระบบประสาทเกิดขึ้น การรักษาโดยการผ่าตัดผ่านกล้องไม่ ว่าจะเป็นการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกหรือการผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูก จะช่วยลดอาการและแก้ไขปัญหาของระบบประสาทไขสันหลัง ก่อนที่จะเกิดความเสียหายถาวรได้

ข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้อง

  • ปลอดภัยสูง เนื่องจากในการผ่าตัดแพทย์สามารถมองเห็นเส้นประสาทได้อย่างชัดเจน
  • ลดความเสี่ยงของการเกิด อัมพฤกษ์ หรือ อัมพาต หลังการผ่าตัด ลดความเสียหายของเนื้อเยื่อข้างเคียง ฟื้นตัวได้เร็ว

วิธีการป้องกันและการดูแลตนเองจากอาการแขนขาอ่อนแรงที่เสี่ยงให้เกิดโรคกระดูกคอเสื่อม

  • เมื่อทำงานอยู่ในท่าเดียวนานๆ ควรลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ
  • ไม่ควรใส่เสื้อผ้ารัดแน่นเกินไป
  • ไม่ควรนอนฟูกนิ่มเกินไป ความสูงของหมอนควรพอเหมาะกับคอเพื่อลดการทำงานของคอ อาจใช้หมอนใบเล็กๆ รองใต้บริเวณคอร่วมด้วย
  • บริเวณคอควรได้รับความอบอุ่น ไม่ควรตากแอร์ ตากลมตรงๆ
  • ปรับระยะตัวหนังสือที่ต้องอ่านประจำให้อยู่ระดับสายตา เพื่อป้องกันการเกิดคอเคล็ด
  • ใช้แว่นตาให้เหมาะสมกับสายตา เพื่อป้องกันการขยับคอบ่อยๆ ขณะทำงานและป้องกันการเกิดคอเคล็ด
  • ไม่ว่าในท่าเดินหรือท่ายืน ศีรษะก็ควรจะอยู่ตั้งตรงบนลำตัว ไม่ควรก้มศีรษะลง
  • การโน้มศีรษะลงขณะอ่านหนังสือจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอทำงานมากกว่าปกติควรจะยกหนังสือให้ตั้งขึ้นได้ระดับสายตา อาจวางตั้งบนกองหนังสือหรือกล่องก็ได้ ขณะขับรถควรเคลื่อนลำตัวให้ใกล้พวงมาลัย
  • ไม่ควรสัปหงกขณะนั่งรถ เพื่อป้องกันการเกิดคอเคล็ด
  • การนวดอย่างนิ่มนวลอาจช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณคอ
  • การใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบอาจช่วยลดอาการปวดคอได้ แต่ถ้าจะให้ได้ผลที่ดีกว่า ควรประคบแบบเปียกด้วยผ้าชุบน้ำร้อน
การพบแพทย์ตั้งแต่ยังมีอาการเริ่มแรกจะทำให้ง่ายต่อการรักษา และมีโอกาสที่จะหายและกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสูงขึ้น หากรู้สึกว่ามีอาการที่กล่าวไปข้างต้นควรรีบเข้าไปพบแพทย์ที่เชี่ยวชาญ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น