วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เลือดออกในสมองจากความดันโลหิตสูง


เลือดออกในสมองจากความดันโลหิตสูง

เลือดออกในสมองเกิดจากความเสื่อมสภาพของผนังหลอดเลือดแดงแข็งตัว หนาขึ้นและไม่ยืดหยุ่น เมื่อความดันในหลอดเลือดสูงขึ้น ทำให้เส้นเลือดแดงในสมองฉีกขาด เลือดคั่งในสมอง
มีอาการ ปวดศีรษะทันที แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดลำบาก พูดไม่ชัด เวียนศีรษะ เสียการทรงตัว ระดับความรู้สึกเปลี่ยนแปลงอาจซึมลงหรือหมดสติ

การรักษา

มี 2 วิธี คือ การรักษาทางยา และการผ่าตัด แพทย์จะเลือกวิธีการรักษาโดยพิจารณาจากขนาดของก้อนเลือดถ้าขนาดใหญ่มาก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักหรือก้อนเลือดอยู่ในตำแหน่งที่เป็นอันตราย จะพิจารณาการผ่าตัด ถ้าหากก้อนเลือดขนาดเล็ก อาการของผู้ป่วยมักไม่หนักมาก จะพิจารณารักษาทางยา ไม่ต้องผ่าตัด

เลือดออกในสมองจากโรคหลอดเลือดโป่งพอง (Cerebral Aneurysm)

เกิดจากความผิดปกติของผนังหลอดเลือดบางจุด ทำให้ผนังหลอดเลือดบริเวณนั้นบางลง และจะโป่งพองออก ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ ความดันโลหิตสูงและผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ ร่วมกับอายุที่มากขึ้น

อาการ

ถ้าหลอดเลือดโป่งพองยังไม่แตกจะไม่แสดงอาการแต่อาจตรวจพบโดยบังเอิญ จากการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วยสาเหตุอื่นๆ แต่บางกรณีก็เกิดอาการได้หากหลอดเลือดโป่งพองมีขนาดใหญ่ กดทับเส้นประสาทบางตำแหน่งอาจมีอาการตาเหล่ หนังตาตก แต่เมื่อหลอดเลือดโป่งพองแตกออกจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรงเฉียบพลัน อาจมีคลื่นไส้อาเจียนบางราย มีอาการทรุดลงเร็ว อาจหมดสติและเสียชีวิต

การรักษา

ถ้าหลอดเลือดโป่งพองขนาดใหญ่ ศัลยแพทย์อาจรักษาโดยใช้คลิปหนีบบริเวณฐานของหลอดเลือดที่โป่งพอง หรือการใส่ขดลวดพิเศษ เพื่อให้ส่วนที่โป่งพองอุดตันและไม่แตกอีก

เลือดออกในสมองจากอุบัติเหตุ

เกิดจากอุบัติเหตุทางจราจรการถูกทำร้าย ตกจากที่สูง เป็นต้น พบได้ทั้งวัยเด็กและผู้ใหญ่ ทำให้สมองฟกช้ำ หลอดเลือดในสมองฉีกขาด

อาการ

ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแรงกระแทก ขนาดของก้อนเลือด และตำแหน่งของก้อนเลือด บางรายปวดศีรษะ มึนงง และหายได้เอง บางรายปวดศีรษะไม่มาก แต่ปวดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางรายหมดสติชั่วครู่และฟื้นได้เอง บางรายมีอาการซึมลงและหมดสติตามมาภายหลัง อาการผิดปกติที่พบได้บ่อยคือ แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด นึกไม่ออก สับสน หลงลืม

การรักษา

หลังเกิดเหตุควรนำส่งโรงพยาบาลทันที เพื่อสังเกตอาการทางสมองโดยเฉพาะภายใน 24 ชั่วโมงแรก อาจมีอาการเปลี่ยนแปลงได้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีบาดแผลภายนอกให้เห็น และรู้สึกตัวดีก็ตาม
       การเลือกวิธีการรักษาว่าจะผ่าตัดหรือไม่ แพทย์จะพิจารณาขนาดของก้อนเลือด ตำแหน่งเลือดออก ความดันในสมอง อายุและสภาพร่างกายของผู้ป่วย

อาการของภาวะเลือดออกในสมอง ที่ควรพบแพทย์ด่วน!

  • ปวดศีรษะ เป็นอาการที่พบบ่อยหากมีอาการปวดศีรษะรุนแรง มักพบว่ามีก้อนเลือดขนาดใหญ่
  • อาเจียน เนื่องจากมีความดันในกะโหลกศีรษะสูง
  • ซึมลง หรืออาจหมดสติ เนื่องจากมีความดันในกะโหลกศีรษะสูงขึ้นหรือสมองขาดเลือดไปเลี้ยง
  • แขนขาอ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่ง
  • พูดไม่ชัด พูดไม่ได้
  • บางครั้งอาจชัก
  • อาจมีหยุดหายใจ ถ้ามีเลือดออกกดก้านสมอง

ตรวจวินิจฉัยภาวะเลือดออกในสมองด้วยวิธีใดบ้าง

  • ซักประวัติตรวจร่างกาย เพื่อประเมินอาการและหาสาเหตุ
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของสมอง (CT Brain)
  • เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
  • การเจาะนำไขสันหลัง กรณีสงสัยว่ามีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง
  • ตรวจดูร่องรอยของอุบัติเหตุ เช่น ศีรษะบวมโน หรือมีแผลแตกหรือไม่

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น